วันอาทิตย์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

RSS คืออะไร

RSS ย่อมาจากคำว่า Really Simple Syndication หรือ Rich Site Summary เป็นรูปแบบในการนำเสนอข่าวหรือบทความ ให้อยู่ในรูปแบบมาตราฐาน xml เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารใหม่ๆได้ทันที

เมื่อกล่าวถึง RSS แล้ว หลายท่านอาจจะยังไม่รู้จักว่ามันคืออะไร มีไว้เพื่ออะไร และมีประโยชน์อย่างไร ในความเป็นจริงแล้ว RSS ได้เข้ามามีบทบาทในอินเทอร์เนตอยู่สักพักใหญ่แล้ว และมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน ความรู้ความเข้าใจใน RSS จึงอาจจะเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านและธุรกิจของท่านในอนาคต ในบทความนี้ท่านผู้อ่านจะได้ทราบถึงความหมายของ RSS ประวัติความเป็นมาโดยย่อ และประโยชน์ที่ได้รับจาก RSS

RSS ย่อมาจาก “Really Simple Syndication” ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่า “การกระจายข่าวสารอย่างง่ายๆ” ซึ่ง RSS มีวิธีการกระจายข่าวสารโดยกำหนดให้ผู้ที่ต้องการจะกระจายข่าวสารทำการสร้าง RSS Feed ซึ่งเป็นไฟล์ที่อยู่ในรูปแบบของ XML ขึ้นมาไว้บนเซิร์ฟเวอร์ และนำลิงค์ของไฟล์นั้นแจกจ่ายให้กับผู้ที่ต้องการติดตามข่าวสารจากผู้กระจายข่าวสาร ขั้นตอนถัดมาผู้ที่ต้องการจะติดตามข่าวสารจะต้องทำการสมัครหรือลงทะเบียนกับ RSS Feed นั้นๆ โดยใช้ RSS Reader ซึ่ง RSS Reader นี้จะเป็นตัวดึงข่าวสารจากต้นทางหรือผู้กระจายข่าวสารแล้วส่งไปยังปลายทางหรือผู้ติดตามข่าวสารเป็นระยะๆ โดยที่ผู้ติดตามข่าวสารไม่จำเป็นจะต้องทำการตรวจสอบจากหน้าเว็บไซต์ด้วยตนเองเพียงเพื่อต้องการจะทราบว่ามีข้อมูลใหม่ๆหรือข่าวสารใหม่ๆหรือไม่

ความเป็นมาของ RSS เริ่มจากการสร้างศูนย์กลางเว็บไซต์ของหัวข้อข่าวจากหลายๆแหล่งมารวมไว้ด้วยกัน โดยการคิดค้นของอดีตบริษัท Browser อันดับหนึ่งคือ Netscape ซึ่งเวอร์ชันแรกคือ 0.9 ที่ออกโดย Guha ในปี 2542 จากนั้น Libby ก็ได้ออกเวอร์ชัน 0.91 ออกมาในปีเดียวกันก่อนที่บริษัท Netscape จะหยุดการพัฒนา โดยหลังจากที่ Netscape ได้ถอนตัวออกไปก็ได้มีกลุ่ม RSS-DEV Working Group และ Winer จาก Userland เข้ามาสานต่อ ซึ่ง RSS-DEV Working Group ได้ออกเวอร์ชัน 1.0 ออกมาในปี 2543 ประจวบกับ Winer จาก Userland ที่ออกเวอร์ชัน 0.92 ออกมาในเวลาเดียวกัน จนกระทั่งถึงเวอร์ชัน 2.0 ที่ออกโดย Winer ในปี 2545 ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน

เวอร์ชัน ออกโดย เดือนปีที่ออก
0.9 Guha / Netscape มี.ค. 2542
0.91 Libby / Netscape ก.ค. 2542
1.0 RSS-DEV Working Group ธ.ค. 2543
0.92 Winer / Userland ธ.ค. 2543
2.0 Winer / Userland ก.ย. 2545

ในปัจจุบัน RSS ซึ่งเป็นรูปแบบย่อยอย่างหนึ่งของ XML นั้น ถูกใช้มากในการส่งเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นข่าว เว็บบอร์ด หรือบล็อก โดยมีโครงสร้างที่เป็นมาตรฐานคือมีหัวข้อ วันที่ และเวลา พร้อมทั้งเนื้อหาบางส่วน อีกทั้งยังสามารถลิงค์ไปยังรายละเอียดของเนื้อหานั้นๆได้อีกด้วย ซึ่งเนื้อหาลักษณะนี้อาจจะถูกจำแนกอยู่ในประเภทเนื้อหาที่เป็นข้อความเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้นอกจาก RSS จะถูกนำไปใช้ในการเผยแพร่เนื้อหาหรือข่าวสารที่เป็นข้อความอย่างเดียวแล้ว มันยังถูกนำไปประยุกต์ใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลประเภทอื่นๆอีกอย่างเช่น Podcast ที่ใช้เผยแพร่ข้อมูลภาพและเสียง เป็นต้น ในเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นข่าวนั้น RSS สามารถช่วยให้ผู้กระจายข่าวสามารถแจ้งให้ผู้รับข่าวทราบว่ามีข่าวอะไรใหม่ๆบ้าง ซึ่งการแจ้งให้ทราบเฉพาะข่าวใหม่ๆนี้จะช่วยลดความสับสนให้กับผู้รับข่าวเพราะผู้รับข่าวสามารถทราบได้ทันทีว่าเป็นข่าวสารที่ใหม่กว่าจริงๆ ส่วนในเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นเว็บบอร์ดหรือบล็อกนั้น ก็สามารถนำ RSS มาใช้ประโยชน์ได้เช่นเดียวกันกับเนื้อหาที่มีลักษณะเป็นข่าว เพราะเว็บบอร์ดหรือบล็อกนั้นก็อาจแปลงให้อยู่ในรูปของข่าวที่ประกอบไปด้วยหัวข้อ วันที่ และเวลา ได้เช่นเดียวกัน

ตัวอย่างของประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้ RSS Feed คือ

* ข่าวทุกๆอย่างรวมอยู่ในที่เดียว ทำให้ประหยัดเวลาได้มาก ต่างจากปกติที่เมื่อต้องการจะรับทราบข่าวใดๆก็ตาม ก็จะต้องไปเยี่ยมชมเว็บไซต์นั้นๆ ซึ่งถ้าต้องการทราบข่าวหลายๆประเภทก็ต้องเปิดหลายๆเว็บไซต์ ดังนั้นผู้รับข่าวจึงสามารถรับข้อมูลได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเข้าไปค้นหาจากเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อดูว่ามีข้อมูลใหม่หรือไม่ ซึ่งเว็บไซต์แต่ละแห่งอาจมีระยะความถี่ในการอัพเดตข้อมูลไม่เท่ากัน

* มีแต่ข่าวที่ต้องการรับทราบเท่านั้น เพราะผู้รับข่าวเป็นคนตัดสินใจว่าต้องการที่จะลงทะเบียนรับทราบข่าวนั้นๆหรือเปล่า และเมื่อถึงเวลาที่มีข่าวใหม่ๆมา เขาก็สามารถดูที่หัวข้อข่าวที่สนใจจริงๆ แล้วจึงคลิกที่ลิงค์เพื่อไปดูเนื้อหาเต็มอีกที

* ผู้รับข่าวไม่จำเป็นต้องเปิดเผยอีเมลแอดเดรสของตนเมื่อเขาลงทะเบียนรับข่าวสารกับ Feed ดังนั้นเขาจึงไม่เสี่ยงกับการที่จะได้รับสิ่งไม่พึงประสงค์ที่อาจจะมากับอีเมล เช่น spam หรือไวรัส เป็นต้น

* เผยแพร่ได้ง่าย ผู้ที่ต้องการรับทราบข่าวสารเพียงแค่ลงทะเบียนรับทราบข่าวสารกับ Feed ที่ผู้เผยแพร่ได้จัดไว้ให้ ผู้เผยแพร่จึงไม่จำเป็นที่จะต้องเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้ลงทะเบียนลงไปไว้ในฐานข้อมูล

ที่มาของข้อมูล : http://www.rss.in.th/2007/07/22/what-is-rss/#more-3

1 ความคิดเห็น: